สเต็มเซลล์ (Stem Cell) คืออะไร

0
8581

สเต็มเซลล์ (Stem Cell) คืออะไร          

คุณอาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่า สเต็มเซลล์ ช่วยให้หน้าอ่อนกว่าวัย สาวนาน หลายคนเชื่อตามคำที่บอกต่อๆ กันมา จึงไปฉีดยกหน้า จากที่เริ่มมีริ้วรอยเหี่ยวย่น มีร่องลึกตามวัย จุดด่างดำ ก็จะทำให้ใบหน้าใสกระจ่างขึ้นได้ แต่บางครั้งข่าวเรื่องความงามก็มาควบคู่กับข่าวลบทางหน้าหนังสือพิมพ์ ทำให้บางคนลังเลที่จะใช้สเต็มเซลล์ก็มี มาทำความรู้จักสเต็มเซลล์กันดีกว่า

สเต็มเซลล์คืออะไร

สเต็มเซลล์ (Stem Cells) เป็นคำเรียกทับศัพท์ของเซลล์ต้นกำเนิดที่พบในสิ่งมีชีวิต สามารถแบ่งตัวเองเป็นเซลล์ใหม่ได้ และเปลี่ยนเป็นเซลล์อย่างอื่นก็ได้ ดังนั้นในเซลล์ของอวัยวะสำคัญๆ ของร่างกายจึงเป็นการต่อยอดจากสเต็มเซลล์ ไม่ว่าจะเป็น เซลล์สมอง หัวใจ กล้ามเนื้อ หรือแม้กระทั่งเม็ดเลือดแดง

สเต็มเซลล์ได้มาจากไหน

  1. เลือดในรกเด็ก นี่เองคือที่มาของข่าวที่ว่า มีการทำแท้งเด็กเพื่อทำสเต็มเซลล์ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเป็นเช่นนั้น เพราะสเต็มเซลล์มาจากแหล่งอื่นได้อีก
  2. จากตัวอ่อนในระยะบลาสโตซิสท์ คือตัวอ่อนหลังจากการผสมกันของอสุจิและไข่ มีการแบ่งเซลล์จนมีอายุ 3-5 วัน ประเด็นนี้เคยมีข้อถกเถียงเรื่อง เป็นการทำลายชีวิตหรือไม่
  3. จากเซลล์เนื้อเยื่อโตเต็มวัย สเต็มเซลล์แบบนี้พบได้น้อย และยังมีคุณสมบัติในการเติบโตน้อยกว่าสเต็มเซลล์อื่น

นอกจากนั้นยังมีสเต็มเซลล์จากไขกระดูก จากถุงน้ำคร่ำ จากเซลล์พืชอีก

 สเต็มเซลล์มีประโยชน์อะไร

คนที่สนใจเกี่ยวกับความสวยความงาม มักคุ้นเคยกับสเต็มเซลล์ในฐานะเป็นตัวช่วยชั้นดีในการชะลอความสาวให้ยาวนาน ด้วยการช่วยทำให้ผิวพรรณเต่งตึง ลดริ้วรอยเหี่ยวย่น  โดยที่สเต็มเซลล์กระตุ้นให้มีการสร้างเซลล์ใหม่ๆ แทนเซลล์ที่เสื่อมลงไป การทำหน้าที่ของสเต็มเซลล์นั้นจึงเป็นการปลูกถ่าย ไม่ใช่ซ่อมแซม

          แต่ก่อนที่จะเกิดความนิยมในการนำสเต็มเซลล์มาใช้ในวงการความสวยความงามนั้น ทางการแพทย์ได้ใช้สเต็มเซลล์ในทางการแพทย์มาก่อน โดยการกระตุ้นให้มีการสร้างเซลล์ใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น ในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว การปลูกถ่ายเซลล์ไขกระดูกเพื่อให้กลับมาสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่ม ชดเชยจากที่เสียหายไปจากการให้เคมีบำบัด หรือใช้สเต็มเซลล์สร้างเซลล์ประสาท เป็นต้น

การใช้สเต็มเซลล์เพื่อความงามมีความเสี่ยง

การใช้สเต็มเซลล์ทางการแพทย์นั้น มักขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์โดยตรง แต่สำหรับการใช้เพื่อความงาม อาจแทรกมากับผลิตภัณฑ์หรือการศัลยกรรม ซึ่งอาจมีความเสี่ยงทำให้เซลล์แบ่งตัวมากเกินไปได้ และเป็นที่มาของโรคร้าย จึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เช่นกัน