เช็คด่วน อาการที่บอกว่าคุณเป็นโรคริดสีดวงทวาร

0
5618

เช็คด่วน อาการที่บอกว่าคุณเป็นโรคริดสีดวงทวาร

          เมื่อมีอาการปวดหรือเจ็บบริเวณทวารหนัก ตลอดจนมีก้อนเนื้อยื่นออกมาจากทวารหนัก ทำให้มีความลำบากทั้งเวลานั่ง หรือเวลาขับถ่าย เรามักจะนึกถึงโรคริดสีดวงทวาร แต่จะใช่หรือไม่ และต้องดูแลระวังอย่างไร ลองมาดูกันว่า ที่คิดว่าใช่นั้น ใช่ริดสีดวงทวารจริงหรือไม่  

อาการแบบไหนใช่ริดสีดวงทวาร

          ในแต่ละวันของชีวิต การขับถ่ายเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่าการดำรงชีวิตด้านอื่น ปัญหาที่เกิดขึ้นกับทวารหนักจึงเป็นสิ่งไม่ควรละเลย ต้องสังเกตและใส่ใจ อย่าปล่อยให้อาการผิดปกติเกิดขึ้นเรื้อรังจนรักษายาก อาการบอกเหตุว่าคุณมีแนวโน้มที่จะเป็นริดสีดวงทวาร มีดังนี้

  1. อุจจาระออกมามีเลือดปน อาจมีอาการเจ็บหรือปวดร่วมด้วย
  2. มีก้อนนูนๆ บริเวณทวารหนัก โดยเฉพาะเวลาเบ่งจะมีก้อนนูนออกมามากขึ้นแต่เป็นก้อนที่สามารถดันคืนกลับเข้าไปภายในได้
  3. รู้สึกคันหรือระคายเคือง ในบริเวณรอบๆ หรือใกล้ๆ ทวารหนัก

ทั้งสามอาการข้างต้น เป็นลางบอกเหตุว่า มีแนวโน้มที่จะเป็นริดสีดวง แต่โรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรง สามารถดูแลตัวเองเพื่อให้อาการบอกเหตุหายก่อนที่จะกลายเป็นริดสีดวงเรื้อรังได้

วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีลางบอกเหตุว่าจะเป็นริดสีดวงทวาร

          การดูแลตัวเองนั้น คือ การแก้ไขสิ่งที่เป็นต้นเหตุให้มีอาการนั่นเอง ซึ่งอาการบวมหรือมีก้อนเนื้อล้นออกมาจากทวารนั้น เกิดขึ้นเพราะเส้นเลือดบริเวณนั้นได้รับแรงดันสูงจนเกิดการบวม สาเหตุนั้นก็มีหลายอย่าง

  1. สาเหตุเกิดจากการปล่อยให้ท้องผูกบ่อยๆ ทำให้เวลาจะถ่ายอุจจาระต้องใช้แรงเบ่งมาก แรงเบ่งนั่นเองทำให้เส้นเลือดบริเวณทวารหนักบวมขึ้นมา วิธีแก้ไขต้องแก้ที่ลดการท้องผูก อาจใช้วิธีรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ให้มากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ หรือธัญพืชที่มีไฟเบอร์ช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้น
  2. การขับถ่ายยากนั้น นอกจากท้องผูกแล้ว ยังอาจมีสาเหตุจากการที่กล้ามเนื้อไม่มีแรงบีบ ทำให้เบ่งผิดวิธี วิธีแก้ไขโดยรวมคือ การหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  3. กรณีเกิดอาการบวมขึ้นมาแล้ว วิธีดูแลก็คือ ใช้ความอุ่นของน้ำประคบ ความอุ่นของน้ำจะทำให้ทุเลาอาการเจ็บหรืออักเสบลงได้ หรือจะประคบเย็นเพื่อลดอาการบวมก็ได้
  4. อาการอักเสบที่ต้องดูแล เพราะยิ่งเปียกชื้นและมีการนั่งกดทับยิ่งทำให้อาการกำเริบขึ้น จึงต้องหมั่นดูแลทั้งเรื่องของความสะอาด และให้ปลอดความชื้น

แต่ถ้าดูแลแล้ว ไม่ทุเลาขึ้นกลับมีอาการรุนแรงขึ้นเช่น ถ่ายเป็นเลือด และมีอาการข้างเคียงอย่างอื่น ควรพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด แพทย์อาจรักษาโดยการ ใช้ยาเหน็บ ฉีดยา ผ่าตัด หรือหากมีโรคอื่นที่ร้ายแรงกว่าจะได้แก้ไขทันท่วงที