รักษารากฟันคืออะไร ขั้นตอนการรักษา ฉบับเข้าใจง่าย

0
15100

รักษารากฟันคืออะไร ขั้นตอนการรักษา ฉบับเข้าใจง่าย

ธรรมชาติฟันของคนเรามี 2 ชุดคือฟันน้ำนมกับฟันแท้ ก่อนที่จะได้กล่าวถึงเรื่องการรักษารากฟันนั้น เราลองมาทำความรู้จักกับฟันของเราก่อนดีกว่า

ฟันแต่ละซี่นั้น ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ ตัวฟัน คอฟัน รากฟัน

  1. ตัวฟัน ก็คือ ส่วนของฟันที่เราเห็น เพราะเป็นส่วนที่โผล่พ้นเหงือกออกมา
  2. คอฟัน คือ ส่วนรอยต่อระหว่างฟันกับรากฟันที่แนบชิดอยู่กับเหงือกนั่นเอง
  3. รากฟัน คือส่วนที่ฝังอยู่ในเหงือก เรามองไม่เห็น ซึ่งหากจะอธิบายตามหลักการของทันตแพทย์ก็ต้องลงรายละเอียดว่า รากฟันนั้นจะฝังอยู่ในกระดูกเบ้ารากฟันของขากรรไกร ยึดไว้ด้วยเส้นใยยึดต่อที่เรียกว่า periodontal ligament ซึ่งเอ็นนี้จะทำหน้าที่คล้ายเบาะรองรับตลอดจนถ่ายทอดแรงบดเคี้ยวจากฟันไปยังกระดูกขากรรไกร


ชนิดของฟัน
– ฟันของเรามีหลายลักษณะตามการใช้งานที่แตกต่างกัน แบ่งตามลักษณะได้ดังนี้

  1. ฟันตัด จะมีลักษณะมีหน้าฟันเป็นรูปเหลี่ยม หน้าตัดฟันมีความคม เพื่อใช้ในการตัด กัด เช่น ฟันหน้า
  2. ฟันเขี้ยว เป็นฟันที่มีรูปร่างต่างจากฟันตัด มักมีปลายแหลม อยู่ถัดจากฟันตัดเข้าไปตรงมุมปาก มีหน้าที่ฉีก ดึง ฟันส่วนนี้บางครั้งยื่นออกมาจากระนาบเดียวกับฟัน เห็นเป็นเขี้ยวมุมปากชัดเจน
  3. ฟันกราม ทำหน้าที่คอยบดอาหาร จึงมีส่วนบดเคี้ยวเป็นฐาน มีความไม่เรียบ จะอยู่ด้านในของปากรากฟันของฟันตัดและฟันเขี้ยวจะเป็นรากเดี่ยว ส่วนฟันกรามจะมีทั้งรากเดี่ยวและรากคู่

การรักษารากฟันคืออะไร ทำไมต้องรักษา

การรักษารากฟันจะเกิดขึ้นก็เมื่อ “โพรงประสาทฟัน” ถูกทำลาย ตายหรืออักเสบ ทำให้มีความจำเป็นต้องตัดโพรงประสาทฟันอก แล้วทำความสะอาดเสียใหม่ โดยวิธีจัดรูปทรงและอุดฟัน ซึ่งสาเหตุใหญ่ๆ ที่ทำให้โพรงประสาทฟันถูกทำลายหรือตายนั้นก็เนื่องมากจาก มีอาการฟันผุอย่างรุนแรง หรือมีอาการบาดเจ็บของฟัน เช่นการกระแทกแรงๆ ฟันแตก ทำให้โพรงประสาทมีการติดเชื้อหรือตาย อาจมีบ้างที่เกิดจากวัสดุอุดฟันมีปัญหา


สัญญาณบ่งบอกว่าถึงขั้นต้องรักษารากฟัน

  1. มีอาการเสียวฟันเวลาที่ฟันโดนน้ำเย็น น้ำร้อน หรือบางมีอาการหนักกว่านั้นก็ถึงขั้นปวดฟัน สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า อาจมีการอักเสบของเนื้อเยื่อในโพรงฟัน สีของฟันอาจเปลี่ยนสีจากเดิม เช่นกลายเป็นสีคล้ำลง
  2. มีอาการปวดฟันเมื่อกัดฟัน หรือฟันกระทบกันจากการเคี้ยวอาหาร ความเจ็บปวดเหล่านี้จะทวีอาการขึ้นเรื่อยๆ จนถึงแม้เอามือสัมผัสก็รู้สึกว่าเจ็บ


ขั้นตอนการรักษารากฟัน

– หลังจากที่ทันตแพทย์วินิจฉัยแล้วว่า มีอาการอักเสบจนต้องใช้วิธีการรักษารากฟันแล้ว แพทย์จะนัดคนไข้มาเพื่อการรักษาอย่างเป็นขั้นตอนซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาพอสมควร ตามรายละเอียดต่อไปนี้

  1. ขั้นตอนแรก คือ กรอฟันด้านหลังของฟัน กรณีเป็นฟันหน้าหรือฟันเขี้ยวเพื่อหาคลองรากฟัน จากรูเล็กๆ ซึ่งอยู่ต่อจากโพรงประสาทถึงปลายราก
  2. ขยายคลองรากฟันให้ใหญ่ขึ้น เพื่อความสะดวกในการใช้น้ำยาล้าง ฆ่าเชื้อโรค ทำการล้างโพรงประสาทฟันที่เสียและถูกตัดออกเพื่อเตรียมรักษา
  3. เมื่อทำความสะอาดขั้นต้นเรียบร้อย แพทย์จะปิดโพรงประสาทด้วยวัสดุอุดชั่วคราว เพื่อให้ยาได้ออกฤทธิ์ อาจทิ้งไว้เป็นเวลา 3 วัน หรือ 1 สัปดาห์แล้วแพทย์จะนัดหมายให้รักษาครั้งต่อไป
  4. เมื่อทำความสะอาดและรักษารากฟันเพื่อกำจัดหนองและเชื้อโรคสิ่งสกปรกที่อยู่ในโพรงประสาทฟันนั้น จะมียาฆ่าเชื้อโรคเปลี่ยนไปในแต่ละครั้งตามขั้นตอนการล้าง ฆ่าเชื้อโรคของแพทย์ จะทำซ้ำอีกหลายครั้ง อาจถึง 4-5 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถฆ่าเชื้อโรคและกำจัดหนอง สิ่งสกปรกตกค้างให้สิ้นซากไปจริงๆ

อนึ่ง เมื่อเสร็จการล้างแต่ละครั้ง แพทย์จะทำการอุดฟันด้วยวัสดุอุดฟันชั่วคราวไปก่อนเพื่อป้องกันการติดเชื้อในระหว่างเวลาก่อนถึงขั้นตอนนัดหมายครั้งต่อไป

  1. เมื่อทำความสะอาดจนหนองแห้ง สิ่งสกปรกเชื้อโรคหมดไปแล้ว ก็เลิกใช้วัสดุอุดฟันชั่วคราว ทันตแพทย์จะทำการอุดถาวรให้โดยใช้ Gutta-percha ซึ่งเป็นคล้ายยางแท่งเล็กๆ อุดตั้งแต่ปลายรากฟันถึงพื้นโพรงประสาทฟัน จากนั้นก็ปิดด้วยวัสดุอุดฟันที่เรียกว่าซีเมนต์ (cement) และอมัลกั้ม (amalgam)  บางครั้งอาจมีการใส่โลหะหรือพลาสติกแท่งลงไปเพื่อประคองฟันไว้ จากนั้นก็ทิ้งไว้สักระยะเพื่อรอดูอาการให้แน่ใจว่า การรักษารากฟันนั้นสมบูรณ์ดีแล้ว จึงถึงขั้นตอนสุดท้ายต่อไป
  2. แพทย์จะจัดทำครอบฟันเพื่อคลุมฟันและรักษารูปทรงของฟันเอาไว้

ฟันที่รับการรักษาจะอยู่ได้นานเท่าใด 

การรักษารากฟันทำให้สามารถเก็บรักษาฟันไว้ใช้งานได้ต่ออีก เนื่องจากยังมีรากฟันคอยยึดตัวฟันเอาไว้  แต่ถึงกระนั้น คนไข้ที่ผ่านการรักษารากฟันมาแล้ว ก็ต้องดูแลใช้ฟันซี่นั้นๆ อย่างระมัดระวัง เนื่องจากฟันยังคงอยู่ก็จริง แต่ไม่มีโพรงประสาทฟันเหลืออยู่ เรียกว่าเหลือโครงที่ไม่มีชีวิต ฟันที่ผ่านการรักษารากฟันมาแล้ว จึงมีความเปราะบางและแตกง่ายกว่าฟันที่ยังมีประสาทฟัน ซึ่งจะใช้งานได้นานแค่ไหนขึ้นอยู่กับการใช้งานอย่างระมัดระวังเพียงใด