อาการบอกว่าคุณเป็นโรคพาร์กินสัน พร้อมวิธีป้องกัน
โรคเกี่ยวกับสมองเสื่อมที่เรียกว่า พาร์กินสันนั้น มักเป็นที่รู้จักในลักษณะอาการสั่นที่ควบคุมไม่ได้เป็นหลัก ส่วนอาการหรือสาเหตุที่ทำให้เป็น หรือแม้แต่การดูแลผู้ป่วย การป้องกันไม่ให้เกิดโรคพาร์กินสันนั้น ส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้ ทั้งที่เรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย ลองมาทำความรู้จักกันดีกว่า
อาการของโรคพาร์กินสัน
โรคพาร์กินสันเกิดจาการทำงานผิดปกติของสมองที่สั่งการอวัยวะให้ทำงาน ดังนั้น คนที่เป็นโรคนี้ จะมีอาการที่มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เฉพาะอาการสั่นอย่างที่คนส่วนใหญ่รู้จัก อาการเหล่านั้น คือ
- คนไข้มีอาการสั่นตามอวัยวะสำคัญ เช่น แขน ขา มือ รวมถึงใบหน้า
- เริ่มมีอาการเกร็งไปทั้งตัว ไม่ใช่เฉพาะแขนขา
- ควบคุมการเคลื่อนไหวได้ไม่ดี ช้าลง หรือแม้แต่การทรงตัวก็เสียไป
- คนไข้ควบคุมอิริยาบถไม่ค่อยได้ แม้แต่การแกว่งแขนขา การยิ้ม หรือกะพริบตา
- ควบคุมจังหวะการพูดได้น้อยลง เสียงเบาลง พูดเสียงสูงต่ำลำบาก
- มีปัญหาในเรื่องการกลืนอาหาร
หากไม่รีบเร่งรักษา ปล่อยให้เรื้อรัง คนไข้จะเริ่มช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
สาเหตุของโรคพาร์กินสัน
เกิดจากเซลล์สมองถูกทำลาย ในส่วนของสมองที่ทำหน้าที่ผลิตสารเคมีที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เมื่อขาดสารดังกล่าวจึงทำให้กล้ามเนื้อไม่ทำงานประสานกันเหมือนเดิม เป็นเหตุให้เซลล์ตาย
สาเหตุที่มีส่วนทำให้เป็นโรคพาร์กินสัน เกิดจาก
- กรรมพันธุ์ หากคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้จะมีสูง
- มีอนุมูลอิสระสะสมและไปทำลายเซลล์ประสาทส่วนควบคุมประสานการทำงานของกล้ามเนื้อต่างๆ
- ร่างกายได้รับพิษสะสม และเป็นพิษที่ทำลายเซลล์ประสาทส่วนควบคุมการทำงานประสานกันเพื่อให้กล้ามเนื้อทำงาน
- เกิดขึ้นอย่างไม่สามารถวิเคราะห์หาสาเหตุได้
แนวโน้มของคนที่จะเป็นโรคพาร์กินสัน
- เมื่อมีอาการผิดปกติเบื้องต้น การควบคุมแขนขาลำบาก การยิ้ม การกลืนอาหารให้รีบไปพบแพทย์
- มีอาการมือไม้สั่น โดยไม่ได้เป็นอะไรอย่างอื่น
- ควบคุมการเคลื่อนไหวไม่ได้ เดินๆ จู่ๆ ก็ล้ม
- มีอารมณ์ซึมเศร้า และแปรปรวนง่าย
- มีปัญหาเรื่องควบคุมการขับถ่ายและปัญหาในการนอน
การป้องกันไม่ให้เป็นโรคพาร์กินสัน
- หมั่นตรวจเช็คสุขภาพและตรวจร่างกายประจำปี โดยเฉพาะคนที่มีคนใกล้ชิดเป็นโรคนี้ เพราะอาจจะเป็นจากกรรมพันธุ์
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใช้ยาที่มีส่วนให้สมองทำงานผิดปกติ เช่น การใช้ยาที่อาจจะเป็นพิษ ไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าวัชพืชหรือยาฆ่าแมลง
- ระวังเรื่องการรับประทานอาหาร เพราะอนุมูลอิสระมีส่วนทำให้เกิดโรคได้
- หากขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยเฉพาะในหญิงที่ตัดมดลูก รังไข่ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์