โบท็อกซ์คืออะไร อันตรายหรือไม่ [ ที่นี่มีคำตอบ ]

0
8744

โบท็อกซ์คืออะไร อันตรายหรือไม่ [ ที่นี่มีคำตอบ ]

          “โบท็อกซ์” (Botox) คำนี้นับว่าคุ้นหูกันมากในช่วงเวลาปัจจุบันที่สาวๆ หันมาใส่ใจเสริมความงามโดยไม่ต้องผ่าตัด ฉีกโบท็อกซ์ แก้ไขริ้วรอย ทำให้หน้าเรียว และอีกหลายอย่างที่ทำให้สวย แต่บางครั้งการพูดกันติดปากก็ทำให้เราเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือรู้ไม่จริงเกี่ยวกับสิ่งนี้ เรามาทำความรู้จักโบท็อกซ์กันดีกว่า ก่อนที่จะตัดสินใจใช้

จริงๆ แล้วโบท็อกซ์เป็นชื่อทางการค้า (trade name) ของสารโบทูลินั่ม ท็อกซิน เอ (Botulinum toxin A) แต่เรียกกันจนติดปากว่า “โบท็อกซ์” สารโบทูลินั่มท็อกซินเอนี้เป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ที่สร้างจาก แบคทีเรีย ชื่อ คลอสตริเดียม โบทูลินั่ม (Clostridium botulinum) ซึ่งเป็นสารทีอาจเป็นเหตุให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษแก่คนที่ได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกายในปริมาณ มากๆ และบางคราวอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตด้วยซ้ำไปหากมีเหตุทำให้กล้ามเนื้อกระบังลมไม่ทำงานจนหยุดหายใจ

การออกฤทธิ์ของ โบทูลินั่ม ท็อกซิน

ดูภาพรวมแล้วสารตัวนี้นับเป็นสารอันตรายอย่างมากเพราะมันจะออกฤทธิ์โดยการไปจับกับส่วนปลายของเซลล์ประสาท ทำให้เซลล์ประสาทไม่สามารถหลั่งสารสื่อประสาทได้ เป็นเหตุให้กล้ามเนื้อคลายตัว หยุดการทำงาน  กลายเป็นอัมพาต สารนี้จะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2-3 วัน และเห็นผลสูงสุดในเวลาประมาณ 7-14 วัน

การใช้ โบทูลินั่ม ท็อกซิน ทางการแพทย์

จากจุดเริ่มต้นที่จักษุแพทย์ฉีดสารตัวนี้เข้าสู่ร่างกายเพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัวเพื่อรักษาโรคตาเหล่  ตาเข แต่กลับพบผลข้างเคียงว่า การฉีดรักษาในบริเวณรอบดวงตาทำให้ริ้วรอยบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณหน้าผากหว่างคิ้วและรอบดวงตาดีขึ้น นับเป็นการค้นพบโดยบังเอิญว่า สารตัวนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านความสวยงาม ฉีดเพื่อยกกระชับผิวหนัง ลดริ้วรอย ตลอดจนทำให้ใบหน้าเรียวลงได้ แต่อย่างไรก็ดี สารตัวนี้ก็มีพิษภัยไม่น้อยหากว่าใช้ผิดที่ หรือปริมาณที่ไม่พอเหมาะ จึงจำเป็นต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และสารนี้จะให้ผลอยู่ในช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 3-8 เดือน ทำให้สาวๆ ต้องฉีดซ้ำบ่อยๆ ซึ่งเท่ากับว่า มีความเสี่ยงในการฉีดทุกครั้งไป

หากจะย้ำถามว่า ตกลงแล้วการฉีดโบท็อกซ์มีอันตรายหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า จะอันตรายหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผู้ใช้และวิธีใช้ หากใช้ถูกวิธีเหมาะสมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็เป็นประโยชน์ตามต้องการได้ เพราะส่วนใหญ่ที่ฉีดโบท็อกซ์แล้วมีผลข้างเคียง เช่น หนังตาตก  กลืนอาหารลำบาก  หน้าไม่สมมาตร  เกิดจากความผิดพลาดมากกว่า เพราะเส้นประสาทบนใบหน้าของคนเรามีจำนวนมากต้องผู้ชำนาญจริงๆ