ฟันคุดคืออะไร รักษาอย่างไร ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

0
21574

รู้จัก “ฟันคุด

เมื่อพูดถึงปัญหาช่องปาก “ฟันคุด” ถือว่าเป็นปัญหาหนึ่งที่สร้างความทุกข์และความเจ็บปวดให้กับผู้ที่ประสบเป็นอย่างมาก นั่นเป็นเพราะว่าใครที่มีฟันคุดขึ้นแล้วจะมีอาการปวด ซึ่งอาการปวดนั้นขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล แต่ที่แน่นอนคืออาการปวดเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตปกติของบุคคลนั้นๆ

ฟันคุด คืออะไร

ฟันคุด คือฟันที่ขึ้นอย่างผิดปกติในช่องปาก บางซี่โผล่ขึ้นมาบางส่วน บางซี่จมอยู่ในกระดูกขากรรไกร ลักษณะการขึ้นของฟันคุดอาจมีลักษณะตั้งตรง เอียง ตะแคง ขวาง หรือขึ้นนอกแนวระนาบ แต่ฟันคุดทุกซี่ที่ขึ้นจะอยู่ชิดและดันฟันซี่ข้างเคียงเสมอ

ฟันคุดมักมีขนาดและรูปร่างที่ผิดปกติ อย่างเช่น รากฟันงอโค้ง มีรากยาวมากกว่าปกติหรือรากฟันโต พบได้บ่อยบริเวณฟันกรามล่างซี่สุดท้ายทั้งซ้ายและขวา

ฟันคุดมักพบในผู้ที่มีอายุระหว่าง 17 – 25 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ฟันแท้ทั้งหมดกำลังขึ้นอย่างเต็มที่ โดยปกติฟันกรามซี่สุดท้ายบนจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่ฟันกรามซี่ล่างหากขึ้นแล้วมักจะมาพร้อมกับอาการปวด

ผลเสียของฟันคุด

  1. ทำให้เกิดอาการปวดมากและอาจรุนแรง
  2. อาจทำให้เหงือกเกิดการอักเสบ ปวดบวม เป็นหนอง
  3. ในบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย เพราะรากฟันและเส้นประสาทมีความเชื่อมโยงกัน ฟันคุดอาจไปกดทับเส้นประสาท
  4. ทำให้เกิดการดันฟันซี่ที่อยู่ด้านข้าง อาจทำให้ฟันโยกหรือฟันหักได้

ใครที่กำลังมีลักษณะอาการดังที่กล่าวมานี้ วิธีการที่ดีที่สุดคือการถอนหรือผ่าตัดในกรณีที่ฟันคุดไม่โผล่ เพราะการปล่อยฟันคุดทิ้งไว้มีผลเสียต่อสุขภาพของคุณมากกว่าผลดีหลายประการ…

สาเหตุสำคัญของการเกิดฟันคุด

          ฟันคุดเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะมีอาการปวดมากและสร้างความหนักใจให้กับผู้ที่ประสบ ฟันคุดมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุ 17 – 25 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยรุ่นและเป็นช่วงที่ฟันแท้ขึ้นสมบูรณ์ทั้งหมดแล้ว แต่ฟันคุดไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น ดังนั้นวันนี้เราจะมาเรียนรู้ถึงสาเหตุสำคัญที่แท้จริงของการเกิดฟันคุด

การเกิดฟันคุดมีสาเหตุสำคัญจากปัจจัยต่อไปนี้

โครงสร้างกระดูกขากรรไกร

โครงสร้างกระดูกขากรรไกรของแต่ละคนมีขนาด ความกว้างและความยาวไม่เท่ากัน จึงส่งผลต่อการขึ้นของฟันที่แตกต่างกันไปด้วย ในผู้ที่มีฟันคุดขึ้น ลักษณะของโครงสร้างกระดูกขากรรไกรจะมีพื้นที่ไม่เพียงพอให้ฟันกรามซี่สุดท้ายทั้งซ้ายและขวาขึ้นได้อย่างปกติ จึงทำให้ฟันขึ้นผิดรูป ขึ้นในลักษณะแนวนอน ตะแคง เอียง โค้งงอ ในบางคนอาจฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกร ไม่โผล่พ้นออกมา

ลักษณะของโครงสร้างกระดูกขากรรไกรที่มักเกิดฟันคุดขึ้น คือบุคคลที่มีลักษณะหน้ารูปไข้ ซึ่งโครงสร้างกระดูกขากรรไกรจะเรียวมน แต่มีพื้นที่ภายในไม่เพียงพอให้ฟันกรามซี่สุดท้ายขึ้น ส่วนโครงสร้างกระดูกขากรรไกรที่มักไม่พบการเกิดขึ้นของฟันคุด คือคนที่มีกระดูกขากรรไกรล่างกว้างแบบคางเหลี่ยม คางล่างยาวและยื่น

ดังนั้นการเกิดฟันคุดจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถป้องกันการเกิดหรือการงอกขึ้นมาได้ เพราะเป็นเรื่องของโครงสร้างใบหน้าและกระดูกขากรรไกรของแต่ละคนที่มีมาตั้งแต่เกิดและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งสิ่งเดียวที่เราสามารถทำได้คือการรักษาช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอเพราะจะช่วยลดปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับช่องปากของเราได้ดีที่สุด…

เอาฟันคุดออก ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

หลายคนคงมีเคยมีอาการปวดฟันบริเวณกรามกันมาบ้าง โดยไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร ซึ่งโดยส่วนใหญ่ถ้าไปให้หมอฟันตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วหละก็ ร้อยละ 80 ก็คงหนีไม่พ้นปัญหาเกี่ยวกับฟันคุด ปัญหายอดฮิตในช่องปากเป็นแน่ เพราะจริง ๆ แล้ว เราแทบทุกคนมีฟันคุดอยู่แล้วในช่องปากของเรา อยู่ที่ว่าฟันคุดนั้นจะแสดงอาการชัดเจน หรือทำให้เราทรมานหรือไม่มากกว่า

ปัญหาของการรักษาฟันคุดนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากตัวฟันคุดเอง แต่มักจะเกิดจากความกลัวการผ่าหรือถอนเอาฟันคุดออกมากกว่า ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะคิดว่าการเอาฟันคุดออกนั้น จะต้องเป็นเรื่องใหญ่โต และอาจจะเจ็บมาก  แต่จริง ๆ แล้วข้อเท็จจริงของการผ่าฟันคุดเองนั้น ในเรื่องของความรู้สึกเจ็บปวดหรือการรักษานั้น ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดเลย เราต้องเข้าใจก่อนว่าฟันคุดก็คือฟันซี่หนึ่งในปากของเรา การจะผ่าหรือถอนฟันคุดนั้น ขึ้นอยู่กับรูปร่างและทิศทางการขึ้นของฟันคุดนั้น ๆ หากเราโชคดีมีฟันคุดที่ขึ้นตรง แพทย์ผู้รักษาก็อาจจะใช้วิธีถอนออกซึ่งแทบจะไม่รู้สึกเจ็บเลยด้วยซ้ำ

แต่หากฟันคุดฝังรากลึกลงไปหน่อย ก็อาจจะต้องมีการผ่าเอาฟันคุดเหล่านั้นออก ซึ่งอาจใช้เวลามาก แต่กระนั้นเองหากใครกลัวว่าจะเจ็บมาก อาจขอให้หมอเจ้าของไข้เพิ่มยาชาบริเวณดังกล่าวให้มากขึ้นเพื่อให้ความรู้สึกเจ็บปวดลดลงได้ การผ่าฟันคุดนั้น ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด แต่ปัญหาจากการมีฟันคุดและไม่รีบรักษานั้นน่ากลัวยิ่งกว่า

รูปแบบและวิธีการรักษา “ฟันคุด”

การรักษาฟันคุด เป็นกระบวนการและขั้นตอนที่ใช้สำหรับผู้ที่มีปัญหาฟันขึ้นผิดปกติ ผิดรูปหรือฝังอยู่ใต้เหงือกบริเวณกระดูกขากรรไกร ทำให้เกิดอาการปวดทั้งมากและน้อยตามสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล ซึ่งผู้ที่มีฟันคุดขึ้นผิดปกติเหล่านี้ ต้องเข้ารับการรักษา เพราะการปล่อยฟันคุดทิ้งไว้ อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายของบุคคลนั้น ๆ ในอนาคต

รูปแบบการรักษาฟันคุด

การรักษาฟันคุดมี 2 รูปแบบ คือ

  1. การถอน
  2. การผ่าตัด

วิธีการรักษาฟันคุด

ก่อนทำการรักษาฟันคุด ทันตแพทย์ต้องถ่ายภาพรังสีหรือเอ็กซเรย์ เพื่อดูลักษณะของฟันคุดก่อนและวินิจฉัยว่าควรใช้วิธีการถอนหรือวิธีการผ่า

วิธีที่ 1 การถอน

ลักษณะของฟันที่ใช้วิธีการรักษาด้วยการถอน จะต้องมีลักษณะตั้งตรง ไม่เอียงมากจนเกินไป ฟันโผล่พ้นเหงือกขึ้นมามากพอสมควร สามารถใช้เครื่องมือดึงฟันคุดนั้นออกมาได้ง่าย

ขั้นตอนการถอน (เช่นเดียวกับการถอนฟันทั่วไป)

  1. ทันตแพทย์จะฉีดยาชาระงับอาการปวด
  2. ใช้เครื่องมือดึงฟันออกมา
  3. ล้างทำความสะอาดแผลและเย็บ

วิธีที่ 2 การผ่าตัด

ลักษณะของฟันที่ใช้วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยส่วนใหญ่จะเป็นฟันที่มีรูปร่างผิดปกติอย่างมาก เช่น อยู่ในลักษณะนอน ตะแคง เอียงมาก และไม่โผล่พ้นออกมานอกเหงือก ทำให้ต้องใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อนำฟันที่คุดออกมาเท่านั้น

ขั้นตอนการผ่า 

  1. ทันตแพทย์จะฉีดยาชาระงับอาการปวด
  2. ผ่าเหงือกให้เปิดออกจนเห็นฟัน
  3. ใช้เครื่องมือตัดฟัน กรอฟันและแซะฟันออกมา
  4. ล้างทำความสะอาดแผลและเย็บ

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีในการรักษาฟันคุดที่ดีที่สุด และช่วยให้อาการปวดฟันรุนแรงยุติลง ซึ่งหลังจากการถอนหรือการผ่าตัด ยังอาจมีอาการปวดและชาอยู่บ้าง ซึ่งเรายังจำเป็นต้องดูแลแผลให้สะอาด เพื่อลดอาการติดเชื้อหลังจากการถอนฟันคุด…

การดูแลรักษาตัวเองหลังจากผ่าฟันคุด

ฟันคุดนั้น เป็นอาการที่มักจะเกิดขึ้นในช่องปากของเราเกือบจะทุกคน สาเหตุก็เนื่องมากจากฟันเรานั้น แท้จริงมีทั้งหมด 32 ซี่ แต่ด้วยข้อจำกัดของเหงือกเรา ที่มีความสั้นกว่าที่จะให้ฟันทั้งหมดสามารถจะงอกออกมาได้ครบ จึงทำให้เกิดฟันบางส่วนที่ไม่สามารถดันขึ้นมาได้ และเกิดการดันตัวเองในชั้นเหงือก จนทำให้เกิดการปวดฟัน หรือบางทีก็โผล่ออกมาแบบผิดรูปผิดร่างและทำให้เกิดฟันผุตามมาได้

วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดเมื่อเกิดฟันคุดก็คือการผ่าเอาฟันคุดเหล่านั้นออก เมื่อตรวจพบ หรือเมื่อมีอาการปวดฟันเนื่องจากฟันคุด การปล่อยฟันคุดทิ้งไว้ไม่เป็นผลดีในทางใด ๆ เลยกับช่องปากของเราเอง ในส่วนของการดูแลรักษาตัวเองหลังจากที่ผ่าฟันคุดเสร็จนั้น โดยปกติทางแพทย์เจ้าของไข้จะให้ผู้ที่เพิ่งผ่าตัดกัดสำลีไว้เพื่อห้ามไม่ให้เลือดไหล ในระหว่างนั้นผู้ที่รับการผ่าตัดฟันคุดจะต้องห้ามบ้วนปากเป็นอันขาด เนื่องจากอาจทำให้แผลที่มีนั้นเปิดและเลือดไม่หยุดไหล นอกจากนี้หากต้องการจะรับประทานอาหารควรรอให้แผลปิดสนิทเสียก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปในแผลได้

ข้อสำคัญที่ควรระมัดระวังก็คือการชาของปาก ที่เป็นผลจากยาชาที่ยังออกฤทธิ์อยู่ ซึ่งมักจะทำให้เราไม่รู้สึกถึงอาการเจ็บปวดหรือเลือดที่ไหลได้ จึงทำให้ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดบางรายไม่ทราบว่ากัดแผลตัวเอง หรือแผลเปิดออก  ดังนั้น จึงควรที่จะรอให้ยาชานั้นคลายฤทธิ์เสียก่อน หากต้องการที่จะใช้งานช่องปากได้อย่างเต็มที่เสียก่อน เพื่อความปลอดภัย